The Energy

สถานการณ์โลกร้อน เกิดจากสภาวะเรือนกระจก  เรากลุ่ม Trinity Groub กำลังหาทางแก้ไขสถานการณ์ เพื่อหยุดสภาวะโลกร้อน

ข่าวสภาวะเรือนกระจก และผลกระทบจากโลกร้อน

VDO สาเหตุ และผลกระทบจากสภาวะเรือนกระจกทำให้โลกร้อน

 

บทความเรื่องสภาวะเรือนกระจก และโลกร้อน หน้าที่ 1

          เมื่อประมาณ 100 ปีมาแล้ว นักวิทยาศาสตร์ที่มีชื่อว่าอาเรเนียส ได้เป็นผู้ริเริ่มใช้คำว่า สภาวะเรือนกระจก และยังได้ทำนายว่า การเผาเชื้อเพลิงฟอสซิลจะเพิ่มปริมาณคาร์บอนไดออกไซค์ในบรรยากาศ และนำไปสู่การเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิบรรยากาศโลก ปัจจุบัน ความเชื่อเกี่ยวกับการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลกยังไม่เป็นเอกฉันท์ มีทั้งผลการศึกษาที่พบว่า อุณหภูมิบรรยากาศโลกเพิ่มขึ้นระหว่าง 0.5 องศาเซลเซียส นับตั้งแต่ พ.ศ. 2143 และผลการศึกษาอื่นๆที่พบว่า อุณหภูมิบรรยากาศโลกเพิ่มขึ้นระหว่าง 1.3 องศาเซลเซียสกับ 0.6 องศาเซลเซียส แต่ยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่า
          อุณหภูมิบรรยากาศที่เพิ่มขึ้นนั้นเนื่องจากเป็นวัฏจักรของการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศตามธรรมชาติหรือเกิดจากการกระทำของมนุษย์
          สภาวะเรือนกระจกที่ส่งผลกระทบต่อการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิบรรยากาศโลกนั้น เป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงของชั้นก๊าซบางๆ ในบรรยากาศชั้นบนของโลก ที่เรียกว่าก๊าซเรือนกระจก ประกอบด้วยก๊าซคาร์บอนไดออกไซค์เป็นส่วนสำคัญ ชั้นก๊าซบางๆนี้มีคุณสมบัติโปร่งใส และยอมให้รังสีจากดวงอาทิตย์ส่วนใหญ่ทะลุผ่านบรรยากาศ เมื่อรังสีจากดวงอาทิตย์กระทบกับผิวโลก จะเปลี่ยนเป็นรังสีความร้อน ส่งผ่านกลับออกไปสู่บรรยากาศ แต่ในครั้งนี้ก๊าซชั้นบางๆจะไม่ยอมปล่อยให้รังสีคลื่นยาวทะลุผ่านไปได้ทั้งหมด โดยดูดรังสีความร้อนนี้ไว้บางส่วน และบางส่วนสะท้อนกลับมายังพื้นโลก ในอดีต กระบวนการของก๊าซเรือนกระจกทำให้บรรยากาศโลกมีความอบอุ่นที่พอเหมาะสำหรับการอยู่อาศัยของสิ่งมีชีวิตต่างๆ ในปัจจุบันพบว่า กระบวนการรับและส่งกลับรังสีความร้อนในชั้นบรรยากาศดังกล่าวกำลังเปลี่ยนไป ซึ่งเป็นผลจากการกระทำของมนุษย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การผลิตและใช้พลังงานโดยการเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิลได้ ทำให้การปล่อยคาร์บอนไดออกไซค์ออกสู่บรรยากาศเพิ่มขึ้นอย่างมาก และส่งผลกระทบต่อปริมาณก๊าซเรือนกระจก ซึ่งก็มีผลให้ปริมาณความร้อนถูกสะท้อนกลับเข้ามาที่ผิวโลกมากขึ้นทุกๆปี ทำให้อุณหภูมิบรรยากาศโลกโดยเฉลี่ยมีค่าสูงกว่าค่าที่เหมาะสม นอกจากคาร์บอนไดออกไซค์แล้วยังมีก๊าซอื่นๆที่เป็นก๊าซเรือนกระจกด้วย ได้แก่ ไนทรัสออกไซค์ มีเทน และคลอโรฟลูออโรคาร์บอน

ก๊าซเรือนกระจก มาจากไหน

ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) เป็นก๊าซชนิดที่ทำให้เกิดพลังงานความร้อนสะสมในบรรยากาศของโลกมากที่สุดในบรรดาก๊าซเรือนกระจกชนิดอื่น ๆ เป็นตัวการสำคัญที่สุดของปรากฎการณ์เรือนกระจกที่มนุษย์เป็นผู้กระทำ ซึ่งเกิดจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงถ่านหินเพื่อผลิตไฟฟ้า การตัดไม้ทำลายป่า ก๊าซมีเทน (CH4) เป็นก๊าซที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ เกิดจากของเสียจากสัตว์เลี้ยง เช่น วัว ควาย การทำนาที่ลุ่มน้ำท่วมขัง การเผาไหม้เชื้อเพลิงถ่านหินก๊าซธรรมชาติ และการทำเหมืองถ่านหิน ก๊าซไนตรัสออกไซด์ (N20) เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ และจากการใช้ปุ๋ยไนเตรดในไร่นา การขยายพื้นที่เพาะปลูก การเผาไหม้ เผาหญ้า มูลสัตว์ที่ย่อยสลาย และเชื้อเพลิงถ่านหินจากอุตสาหกรรมที่ใช้กรดไนตริกในขบวนการผลิต เช่น อุตสาหกรรมผลิตเส้นใยไนลอน อุตสาหกรรมเคมี หรืออุตสาหกรรมพลาสติกบางชนิด คลอโรฟลูโอโรคาร์บอน (Chlorofluorocarbon- CFsC) เป็นก๊าซที่สังเคราะห์ขึ้นเพื่อใช้ในการผลิตทางอุตสาหกรรม เช่น ใช้ในเครื่องทำความเย็นชนิดต่าง ๆ เป็นก๊าซขับดันในกระป๋องสเปรย์ และเป็นสารผสมทำให้เกิดฟองในการผลิตโฟม เป็นต้น ซีเอฟซี มีผลกระทบรุนแรงต่อบรรยากาศ ทั้งในด้านทำให้โลกร้อนขึ้น ทำให้เกิดปรากฎการณ์เรือนกระจก และทำลายบรรยากาศโลกจนเกิดรูรั่วในชั้นโอโซน

ผลกระทบที่เกิดจากมลพิษทางอากาศ
         1. เกิดภาวะการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลก (Global Warming) เมื่อประมาณ 10,000 ปีที่ผ่านมา ปรากฏการณ์เรือนกระจกเป็นเหตุให้อุณหภูมิของโลกสูงขึ้น 1 - 2 องศา-เซลเซียส นับแต่ พ.ศ. 2403 เป็นต้นมาพบว่าสูงขึ้นอีกประมาณ 0.5 องศาเซลเซียส คณะกรรมการระหว่างชาติว่าด้วยความเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศสรุปว่า ถ้าหากแก้ปัญหานี้ไม่ได้ อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกจะเพิ่มขึ้น 0.2 - 0.5 องศาเซลเซียส ทุก 10 ปี ทำให้เกิดความแห้งแล้งรุนแรง ภาวะฝนทิ้งช่วงยาวนานกว่าปกติและเกิดปัญหาอื่นตามมา
         2. ระดับน้ำทะเลสูงขึ้นและเกิดน้ำท่วมรุนแรงกว่าเดิม นักวิทยาศาสตร์คำนวณว่า ถ้าอุณหภูมิของโลกเพิ่ม 1.5 - 4.5 องศาเซลเซียส น้ำแข็งขั้วโลกจะละลายเป็นผลให้น้ำทะเลสูงขึ้น 20 - 140 เซนติเมตร โดยคาดว่าน้ำทะเลจะสูงขึ้นอย่างมากใน พ.ศ. 2573 ศตวรรษที่แล้วระดับสูงกว่าเดิม 10 - 15 เซนติเมตร ปัจจุบันสูงขึ้นปีละ 1.2 มิลลิเมตร IPCC ประมาณว่าใน พ.ศ. 2573 น้ำทะเลจะสูงขึ้น 20 เซนติเมตร พ.ศ. 2633 สูงเพิ่มอีก 60 เซนติเมตร และ พ.ศ. 2683 จะสูงกว่าเดิมถึง 1 เมตร ถ้าน้ำทะเลสูงขึ้นเพียง 50 เซนติเมตร เมืองสำคัญและท่าเรือจะจมน้ำใต้ผิวน้ำ คนจำนวนมากต้องอพยพและเกิดปัญหาสังคมมากมาย เช่น กรุงเทพมหานคร มะนิลา โตเกียว กัลกัตตา นิวยอร์ก บัวโนส/ ไอเรส ภาคใต้ของประเทศบังคลาเทศ มัลดีฟส์ เนเธอร์แลนด์ พื้นที่ทางใต้และตะวันออกของสหราชอาณาจักร และชายฝั่งด้านตะวันออกเฉียงใต้ของสหรัฐอเมริกา
         3. ระบบนิเวศเปลี่ยนแปลง เมื่อน้ำทะเลขยายตัว พื้นที่ป่าไม้จะลดลง สิ่งมีชีวิตที่ปรับตัวไม่ได้จะตายและสูญพันธุ์ไป ป่าจะขยายตัวไปทางขั้วโลก 10 กิโลเมตรต่ออุณหภูมิที่เพิ่มขึ้น 1 องศาเซลเซียส ดินจะพังทลายและเสื่อมโทรมมากขึ้น ภัยธรรมชาติจะมีแนวโน้มรุนแรงและเกิดบ่อยขึ้น ทะเลทรายจะขยายกว้างกว่าเดิม ฤดูหนาวจะอุ่นขึ้นทำให้ศัตรูพืชถูกทำลายน้อยลง ชายฝั่งที่เคยเป็นน้ำกร่อยจะเป็นน้ำเค็มซึ่งมีผลต่อห่วงโซ่อาหาร พืชน้ำจืดจะตาย สัตว์จะอพยพและตะกอนจากชายฝั่งจะถูกพัดพาไปทับถมนอกชายฝั่งทำให้ทำให้ไหล่ทวีปสูงขึ้น นอกจากนี้ การที่ปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เพิ่มขึ้นจะทำให้ผิวน้ำทะเลมีสภาพเป็นกรดมากขึ้น และจะมีผลกระทบต่อการเจริญของแนวหินปะการังของโลกด้วย
         4. ผลกระทบต่อเกษตรกรรม ทำให้ขยายเกษตรไปทางขั้วโลก ถ้าอุณหภูมิเพิ่มขึ้น 1 องศาเซลเซียสจะสามารถปลูกธัญพืชสูงขึ้นไปทางขั้วโลกเหนือได้ 150 - 200 กิโลเมตร และปลูกในพื้นที่สูงขึ้นอีก 100 - 200 เมตร พืชที่ปลูกตามขอบทะเลทรายจะเสียหายเพราะทะเลทรายขยายตัว การนำพืชไปปลูกถิ่นอื่นต้องปรับสภาพดินและน้ำ วัชพืชและพืชจะโตเร็วและมีขนาดใหญ่กว่าเดิมเนื่องจากได้รับคาร์บอนไดออกไซด์เพิ่มขึ้น แต่ดินจะเสื่อมเร็วเพราะแร่ธาตุจะถูกนำไปใช้มาก พืชจะขาดไนโตรเจน ความต้านทานโรคและแมลงลดลง ผลผลิตพืชมีแนวโน้มสูงขึ้น โดยพืชใช้คาร์บอนไดออกไซด์ในการสังเคราะห์แสงได้ดีกว่าจะให้ผลผลิตมากกว่า เช่น พืชที่ใช้คาร์บอน 3 อะตอม (พวกถั่ว มันสำปะหลัง กล้วย มันฝรั่ง หัวผักกาดหวาน และข้าวสาลี) จะมีผลผลิตสูงกว่าพืชที่ใช้คาร์บอน 4 อะตอม (พวกข้าวโพด ข้าวฟ่าง อ้อย และลูกเดือย) ผลผลิตในหลายแหล่ง เช่น สหรัฐอเมริกา ยุโรป และญี่ปุ่น จะมากเกินความต้องการทำให้ราคาตกต่ำซึ่งจะกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคมโลก เป็นเหตุให้ต้องเปลี่ยนแปลงการผลิตและการใช้ดิน ต้องปรับปรุงพันธุ์พืชให้มีความต้านทานโรค แมลง และอากาศที่แห้งแล้งขึ้น
         5. ผลกระทบต่อสุขภาพของชุมชน ได้แก่
          1) มีผลเสียต่ออารมณ์ ร่างกาย และการปฏิบัติกิจกรรมโดยอากาศร้อนทำให้คนรู้สึกหงุดหงิด ฉุนเฉียวง่าย เหนื่อยง่าย และประสิทธิภาพการทำงานต่ำ
          2) มีอันตรายต่อผิวหนัง อุณหภูมิที่สูงมากจะทำให้เหงื่อออกมาก โดยเฉพาะตามง่ามเท้า รักแร้ และ ข้อพับ ทำให้ผิวหนังเปื่อย เกิดผดผื่นคันหรือถูกเชื้อราหรือแบคทีเรียทำให้อักเสบได้ง่าย
          3) ทำให้โรคเขตร้อนระบาดได้มากขึ้น เช่น โรคไข้ส่า ซึ่งเกิดจากเชื้อไวรัสโดยยุงเป็นพาหะ มีอาการโรคไข้เลือดออก ต่อมน้ำเหลืองอักเสบบวม ปวดกล้ามเนื้อและข้อ อาจเสียชีวิตได้ ไม่มีวัคซีนและยาที่ใช้รักษาเฉพาะ เมื่อ พ.ศ. 2540 ระบาดในประเทศบราซิล มีผู้ป่วยไม่ต่ำกว่า 24,000 คน และในเวเนซุเอลา 32,000 คน เสียชีวิต 40 คน หากอุณหภูมิสูงขึ้นจะทำให้โรคนี้ระบาดทั่วแถบร้อนของโรคได้
          4) เป็นอันตรายต่อเด็กและคนชรา โดยจะทำให้มีโอกาสเสียชีวิตจากคลื่นความเย็นและคลื่นความร้อนมากขึ้น
         6. ผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคม ที่สำคัญได้แก่
          1) ใช้ทรัพยากรธรรมชาติให้มากขึ้น เพราะอากาศร้อนจะทำให้มีการใช้เครื่องปรับอากาศและแร่เชื้อเพลิงเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในชุมชนเมืองซึ่งจะมีอุณหภูมิสูงกว่าชนบท
          2) ราคาพืชผลการเกษตรตกต่ำทั่วโลก เพราะประเทศที่มีกำลังซื้อพืชผลได้เกินความต้องการทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงด้านรูปแบบการค้าและสินค้าเกษตรกรรม
          3) เกษตรกรจะเสียต้นทุนการผลิตมากขึ้น เพราะดินเสื่อมความอุดมสมบูรณ์เร็ว ศัตรูพืชเพิ่มขึ้น ความต้านทานของพืชลดลงขณะเดียวกันก็ต้องลดรายจ่ายลง เช่น ลดการจ้างงาน เป็นต้น
          4) ประเทศที่ยากจนจะขาดแคลนอาหารมากขึ้น เนื่องจากการปลูกพืชในบางแห่งได้ผลน้อย ทะเลทรายเพิ่มขนาด และพืชหลักของท้องถิ่น ซึ่งได้แก่ ข้าวโพด ข้าวฟ่าง อ้อย และลูกเดือยมีอัตราเพิ่มของผลผลิตน้อยลง
          5) แหล่งท่องเที่ยวชายหาดจะถูกน้ำทะเลท่วม ดินจะพังทลายทำให้เสียงบประมาณเพื่อการปรับปรุงจำนวนมาก
          6) การพัฒนาประเทศทำได้ล่าช้า เนื่องจากต้องใช้งบประมาณเพื่อแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้น

ไอน้ำ เป็นสาเหตุสำคัญอีกอย่างหนึ่งที่ทำให้โลกร้อน

ผลการศึกษาของนักวิทยาศาสตร์อังกฤษพบว่า ภาวะโลกร้อนที่เกิดจากฝีมือมนุษย์กำลังทำให้ระดับความชื้นในอากาศสูงขึ้น เสี่ยงทำให้ฤดูฝนเคลื่อนหรือรุนแรงขึ้น พายุโซนร้อนรุนแรงขึ้นและผู้คนไม่สบายเพราะสภาพอากาศร้อน

ผลการศึกษาของหน่วยวิจัยสภาพอากาศ มหาวิทยาลัยอีสต์แองเกลียที่ลงพิมพ์ในวารสารเนเจอร์ฉบับวันพฤหัสบดีที่11 ตุลาคมนี้ระบุว่า ระหว่างปี 2519-2547 ผิวโลกมีอุณหภูมิเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 0.49 องศาเซลเซียส ระดับไอน้ำในชั้นบรรยากาศโลกเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.2 ผลการศึกษาคาดว่า ระดับความชื้นของโลกอาจเพิ่มขึ้นอีกร้อยละ 10 ภายในปี 2643

ระดับไอน้ำในชั้นบรรยากาศเป็นวงจรที่เกิดขึ้นไม่รู้จบในปรากฏการณ์ภาวะโลกร้อน เพราะไอน้ำถือเป็นก๊าซเรือนกระจกประเภทหนึ่ง มีคุณสมบัติคล้ายกับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่เกิดจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิล ก๊าซเรือนกระจกเป็นตัวกักความร้อนจากแสงอาทิตย์ไว้ในชั้นบรรยากาศ ทำให้โลกร้อนยิ่งขึ้น เป็นเหตุให้ระดับความชื้นเพิ่มขึ้น นักวิจัยระบุว่า การที่โลกมีความชื้นสูงขึ้นจะส่งผลกระทบอย่างกว้างขวาง ทั้งการกระจายตัว ความรุนแรงของปริมาณน้ำฝน และความรุนแรงของพายุไซโคลน


การทำลายชั้นโอโซนของบรรยากาศ



          การทำลายชั้นโอโซนของบรรยากาศ หมายถึง การที่ก๊าซส่วนน้อยซึ่งส่วนใหญ่ ได้แก่ ออกไซด์ของไนโตรเจน มีเทน และคลอโรฟลูออโรคาร์บอน ซึ่งเกิดจากโรงงานอุตสาหกรรมถูกปล่อยขึ้นสู่บรรยากาศและไปไปทำลายชั้นก๊าซโอโนจนเป็นช่องโหว่ ทำให้รังสีอัลตราไวโอเลตที่เป็นอันตรายต่อสิ่งมีชีวิตส่องถึงพื้นโลกได้ กรณีของสารซีเอฟซี (CFC) นั้น เมื่อลอยสูงขึ้นถึงชั้นโอโซนและกระทบกับรังสี UV ที่ดวงอาทิตย์ปล่อยออกมาจะทำให้อะตอมคลอรีนแตกตัวไปทำให้โอโซนกลายเป็นก๊าซออกซิเจน คลอรีนเพียง 1 อะตอมทำให้โอโซนแตกตัวได้ถึง 10,000 โมเลกุล
          ปกติโอโซนเป็นก๊าซที่มีปริมาณต่างกันตั้งแต่ระดับน้ำทะเลจนถึงความสูง 60 กิโลเมตรแต่ในระดับความสูงประมาณ 25 กิโลเมตรก๊าซจะรวมตัวกันเป็นชั้นบางโอบโลกไว้ เรียกว่า ชั้นโอโซน มีประโยชน์สำคัญ 2 ประการ คือ ช่วยกรองรังสี UV ไว้ร้อยละ 70 - 90 และทำหน้าที่เป็นก๊าซเรือนกระจกเพื่อช่วยรักษาอุณหภูมิของโลก รังสี UV เป็นรังสีที่มองไม่เห็นด้วยตาเปล่า จำแนกได้ 3 ชนิดดังต่อไปนี้
          1) UV - A มีความยาวคลื่นมากกว่า 320 nm เป็นรังสีที่ไม่เป็นอันตรายถูกโอโซนดูดกลืนเพียงเล็กน้อยส่วนใหญ่จะส่องถึงพื้นโลก
          2) UV - B ความยาวคลื่น 280 - 320 nm มีอันตรายมาก โอโซนดูดซับไว้ได้ไม่หมด
          3) UV - C มีความยาวคลื่นระหว่าง 200 - 280 nm รังสีช่วงคลื่นนี้มีอันตรายมากเช่นกันแต่จะถูกออกซิเจนในบรรยากาศดูดกลืนได้ทั้งหมด
          ปัจจุบัน มีการนำเอาอัลตราไวโอเลต และก๊าซโอโซนมาใช้ประโยชน์ในกิจการต่างๆ โดยอัลตราไวโอเลตซึ่งอยู่ในลักษณะกระบอกแสงจะใช้เพื่อฆ่าเชื้อโรค เช่น ใช้ฆ่าเชื้อโรคในน้ำประปาหรือน้ำดื่มบรรจุขวด ส่วนก๊าซโอโซนมีการนำไปใช้กว้างขวางกว่า คือ ใช้ฆ่าเชื้อโรค (ฆ่าเชื้อแบคทีเรีย ไวรัส และสิ่งมีชีวิตที่แขวนลอยในน้ำได้ดีกว่าคลอรีนถึงร้อยละ 52 และฆ่าไวรัสได้เร็วกว่าคลอรีน 3,125 เท่า) ใช้บำบัดน้ำเสียหรือทำให้น้ำตกตะกอนได้ดี ช่วยดับกลิ่น ใช้ฟอกอากาศโดยเฉพาะการสลายก๊าซพิษและเชื้อโรคในอากาศช่วยฟอกสีผิวที่ดำกร้านจากแสงอาทิตย์ให้นวลเนียนขึ้น ใช้ผลิตน้ำดื่มโอโซนเพื่อความสดชื่นของร่างกาย ทำน้ำโอโซนรดต้นไม้เพื่อเพิ่มการเจริญเติบโตและผลผลิต เนื่องจากมีการนำเครื่องผลิตโอโซนไปใช้เติมออกซิเจนในบ่อเลี้ยงกุ้งและปลาอีกด้วย
          การใช้บอลลูนช่วยตรวจวัดชั้นโอโซนที่ขั้วโลกใต้เหนือ อ่าวฮัล-เลย์ ทวีปแอนตาร์กติก เมื่อ พ.ศ. 2528 พบว่า โอโซนลดลงมากในฤดูใบไม้ผลิ โดยลดถึงประมาณร้อยละ 40 เมื่อเทียบกับ พ.ศ. 2500 ใน พ.ศ. 2534 องค์การสหประชาชาติรายงานว่าในช่วงทศวรรษ 1980 ก๊าซลดลงจากทศวรรษก่อนประมาณ 3 เท่า ต่อมาปลายปี พ.ศ. 2535 พบว่า ชั้นก๊าซโอโซนถูกทำลายเป็นช่องโหว่กว้างที่สุดตั้งแต่เคยวัดมา คือ ประมาณ 37,000 ตาราง-กิโลเมตร หรือร้อยละ 60 ซึ่งขนาดเท่ากับทวีปยุโรป และเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2536 ยังพบว่า ก๊าซโอโซนเหนือทวีปอเมริกาเหนือและยุโรปส่วนใหญ่ลดลงจากระดับปกติถึงร้อยละ 20

ผลเสียที่เกิดจากการทำลายชั้นก๊าซโอโซน
          เมื่อก๊าซโอโซนในบรรยากาศชั้นสตราโตสเฟียร์ลดลงจะทำให้รังสี UV ที่ผิวโลกเพิ่มขึ้น UV จำนวนเล็กน้อยจะช่วยสร้างวิตามินดีตามผิวหนัง แต่ถ้ามี UV-B มากจะเป็นอันตรายและถ้าความเข้มข้นของโอโซนลดลงร้อยละ 10 จะทำให้รังสี UV-B ตามพื้นโลกเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 20 รังสี UV-B มีผลเสีย ดังนี้
          1) ทำให้คนเป็นโรค หรือมีอาการผิดปกติ ทำให้เกิดอาการผิดปกติกับผิวหนัง และดวงตา อาการของ ผิวหนังในระยะสั้น ได้แก่ ผิวไหม้เกรียม หากได้รับแสงแดดที่ร้อนแรงนาน 9 - 12 ชั่วโมง จะรู้สึกคัน อาจพองเป็นตุ่มเล็ก มีน้ำใส ปวดและผิว-หนังอักเสบติดเชื้อ อาการในระยะยาวคือ สีผิวไม่สม่ำเสมอโดยจะมีลักษณะเป็นกระดำหรือกระขาว เมื่อผิวหนังถูกทำลายนานๆ จะหยาบกระด้าง เกิดรอยเหี่ยวย่นก่อนวัยอันสมควรและอาจเป็นเนื้องอกหรือมะเร็งผิวหนัง melanoma ซึ่งเกิดน้อยแต่อัตราการตายสูง ผู้เสียชีวิตจากมะเร็งผิวหนังทั่วโลกมีประมาณ 10,000 คน คนผิวขาวเป็นได้ง่ายกว่าคนผิวสี และเกิดกับผู้ที่อาศัยอยู่ค่อนมาทางอิเควเตอร์มากกว่าขั้วโลก เช่น ในรัฐเท็กซัสมีผู้เป็นมะเร็งผิวหนังปีละ 379 คน ต่อประชากร 100,000 คน ขณะที่รัฐไอโอวามีเพียง 124 คน ต่อประชากร 100,000 คนเท่านั้น สำหรับอาการผิดปกติที่เกิดกับตา ได้แก่ ตาพร่า และโรคต้อกระจก
          2) ทำให้ผลผลิตทางการเกษตรลดลง จากการทดลอง พบว่า พืชหลายชนิด เช่น ข้าว ฝ้าย ถั่ว แตงโมและกะหล่ำปลี มีอัตราการสังเคราะห์แสงลดลง พืชโตช้า ผสมเกสรไม่ติดทำให้ผลผลิตลดลง
          3) ทำลายระบบนิเวศแหล่งน้ำ โดยรังสี UV-B จะส่องทะลุน้ำและทำลายสาหร่ายเซลล์เดียวในทะเล ปลาที่กินสาหร่ายจะลดปริมาณ ลูกกุ้งเคยจะตายเพราะถูกรังสี ความอุดมสมบูรณ์ของทะเลรอบทวีป แอนตาร์กติก ซึ่งโอโซนถูกทำลายจะลดลงโดยใน พ.ศ. 2535 พบว่า แพลงก์ตอนพืชลดลงร้อยละ 6-12 เกิดปัญหาห่วงโซ่อาหาร ของนกและปลาโดยเฉพาะปลาวาฬ
          4) ทำให้ทรัพย์สินเสื่อมเสียเร็วขึ้น ที่พบบ่อยได้แก่ ทำให้สีบ้านซีดจาง กระจกหน้าต่างเป็นสีเหลือง หลังคารถยนต์เป็นขุย และทำให้พลาสติกหรือวัสดุสังเคราะห์ เช่น ท่อพีวีซีแตกง่าย
          5) ทำให้เกิดหมอกควันไอเสียรถยนต์ที่ทำปฏิกิริยากับแสงแดด และโอโซนในชั้นโทร-โปสเฟียร์ จะทำให้เกิดหมอกควันบดบังทัศนวิสัยและทำให้พืชได้รับแสงแดดน้อยลง

การอนุรักษ์ทรัพยากรอากาศ
          เนื่องจากโลกเรามีความกว้างใหญ่ การแก้ไขปัญหาซึ่งเกิดขึ้นกับบรรยากาศ จึงเป็นเรื่องที่ทำได้ยาก ดังนั้น หลักสำคัญในการอนุรักษ์จึงได้แก่การป้องกันมิให้เกิดปัญหา อย่างไรก็ตาม หลักและวิธีการอนุรักษ์ทรัพยากรอากาศรวมถึงการแก้ไขปัญหาสรุปได้ดังนี้
          1. งดหรือลดกิจกรรมที่ก่อมลสาร
                    1) ลดปริมาณมลสารที่ทำให้อากาศเสีย เช่น ฝุ่นละอองและสารพิษ
                    2) ลดปริมาณก๊าซเรือนกระจก เช่น ไม่เผาป่า ฟางข้าว หรือขยะมูลฝอยเพื่อลดปริมาณก๊าซ คาร์บอนไดออกไซด์ แก้ไขรถควันดำ เพื่อลดปริมาณก๊าซคาร์บอน-มอนอกไซด์ ลดปริมาณขยะ เปียกและการทำให้เกิดการหมักหมม ของซากอินทรียวัตถุซึ่งทำให้เกิดก๊าซมีเทนและไม่ควรใช้ปุ๋ยไนโตรเจนมากเกินความจำเป็นเพราะจะทำให้เกิดก๊าซไนตรัสออกไซด์
          ในการประชุมสุดยอดเพื่อหาแนวทางลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกซึ่งจัดขึ้นที่ประเทศญี่ปุน เมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. 2540 สหรัฐอเมริกาสัญญาว่า ภายใน 15 ปี ข้างหน้าจะลดก๊าซเรือนกระจกลงร้อยละ 7 จากปริมาณที่เคยปล่อยเมื่อ พ.ศ. 2533 ส่วนสหภาพยุโรปจะลดลงร้อยละ 8 และญี่ปุ่นจะลดร้อยละ 6 ซึ่งจะเป็นผลให้ก๊าซเรือนกระจกทั่วโลกลดลงจาก พ.ศ. 2533 ร้อยละ 5.2
                    3) ลดปริมาณก๊าซที่ทำลายชั้นโอโซน ตามข้อตกลงของประชาคมโลกใน " พิธีสารมอนทรีออล " ซึ่งระบุว่าแต่ละประเทศจะต้องควบคุมการใช้สารที่มีผลทำลายชั้นโอโซน โดยลดการใช้สารซีเอฟซี ตั้งแต่ พ.ศ. 2542 และจะต้องเลิกใช้ตั้งแต่ พ.ศ. 2553 เป็นต้นไป ประเทศไทยได้ตอบสนองข้อตกลงนี้เป็นอย่างดี เช่น กระทรวงพาณิชย์ได้ออกประกาศฉบับที่ 120 กำหนดมิให้ผู้ใดนำตู้เย็นสำเร็จรูปประเภทที่ใช้ในบ้านเรือน โดยใช้สารซีเอฟซีในกระบวนการผลิตเข้ามาในราชอาณาจักร นับตั้งแต่วันที่ 4 เมษายน 2542 เป็นต้น ในฐานะที่เราเป็นส่วนหนึ่งของสังคมจึงควรให้ความร่วมมือด้วยการเลิกใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีการใช้สารซีเอฟซีทุกชนิด เช่น โฟม กระป๋องสเปรย์ ครีมโกนหนวด ใช้เครื่องปรับอากาศรถยนต์ที่ใช้สาร R134a แทนซีเอฟซีตลอดจนผลิตสารอื่นเพื่อใช้แทนซีเอฟซี
          2. อนุรักษ์ป่าไม้เพื่อช่วยลดปัญหาอากาศเสียและวาตภัย ทั้งนี้ เพราะต้นไม้จะใช้ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เพื่อการสังเคราะห์แสง การมีต้นไม้มากจึงช่วยลดปัญหาภาวะเรือน กระจกที่เกิดจากก๊าซนี้ได้ นอกจากนี้ ต้นไม้ยังช่วยกรองฝุ่นผงและละอองต่างๆ ที่ทำให้อากาศเสีย รวมทั้งช่วยปะทะและลดความรุนแรงของลมพายุอีกด้วย
          3. ตรวจสอบอากาศเพื่อเตรียมแก้ไขปัญหา การตรวจสอบคุณภาพอากาศอย่างต่อ-เนื่อง เพื่อให้สามารถทราบ และหาทางแก้ไขปัญหาได้รวดเร็วขึ้น
          4. การป้องกันและรักษา
                    1) การป้องกันผิวหนังไหม้หรือเหี่ยวย่นเนื่องจากแสงแดด ในกรณีจะต้องอยู่กลางแจ้งนานๆ ควรใส่เสื้อผ้าที่หนาและมีสีเข้มหรือสวมหมวกปีกกว้างเพื่อไม่ให้ผิวถูกแสงแดดโดยตรง ( แพทย์ผิวหนังแนะนำว่าหากต้องการป้องกันผิวหนัง ซึ่งได้แก่ แสงแดด ความร้อน ควัน บุหรี่ เหล้า และสารเคมีที่ระคายผิว )
                    2) ป้องกันมะเร็งผิวหนัง
                    - เลือกรับประทานอาหารที่ช่วยป้องกันโรค มหาวิทยาลัยบัฟฟาโล ประเทศสหรัฐอเมริการายงานว่าผู้ที่แพ้แดดง่าย ผิวขาวหรือผู้ที่ต้องอยู่กลางแจ้งเป็นประจำควรบริโภคแต่อาหารที่มีไขมันต่ำ ผักและผลไม้ที่มีธาตุเซเลเนียม (เช่น เห็ด ปลาทูน่า และแป้งข้าวสาลี) เบตาแคโรทีน (เช่น หัวผักกาดแดง พวกกะหล่ำ และผักขม) และวิตามินซี (ส้มและมะนาว) เพราะจะช่วยป้องกันโรคมะเร็งผิวหนังได้มากถึงร้อยละ 96
                    - ใช้ครีมทากันแดด เช่น ครีมทากันแดดเบอร์ 15 แต่จะป้องกันใช้เฉพาะรังสีอัลตราไวโอเลต เอและบีเท่านั้น โดยไม่อาจป้องกันรังสีอินฟราเรดที่ทำให้รู้สึกร้อนได้ การสวมเสื้อผ้าหนาๆ และมีสีเข้มจะช่วยป้องกันอันตรายจากแสงแดดได้ดีกว่า
                    3) ปรับสภาพอากาศให้เหมาะสมต่อการดำรงชีวิต หากอากาศร้อนจนไม่น่าอยู่ พักผ่อน หรือปฏิบัติงานและจะทำให้สิ่งของเครื่องใช้เกิดความเสียหาย ควรแก้ไขโดยการติดตั้งเครื่องปรับอากาศ แต่ควรจะหลีกเลี่ยงการใช้เครื่องปรับอากาศที่ก่อปัญหาสารซีเอฟซี
                    4) รักษาอาการผดผื่นคันที่เกิดจากอากาศร้อน ให้ทาด้วยพวกคาลาไมน์โลชั่น หากมีอาการคันมากต้องรับประทานยาคลอเฟนิรามีนหรือบอมเฟนิรามีน
                    5) สังคมโลกต้องร่วมมือกันอนุรักษ์อย่างจริงจังและบังเกิดผลอย่างชัดเจน โดยเหตุที่ปรากฏการณ์เรือนกระจกและการทำลายชั้นโอโซนในบรรยากาศมีผลกระทบต่อชีวมณฑลหรือชีวาลัย ดังนั้นจึงจำเป็นที่ทุกประเทศจะต้องช่วยกันแก้ไขปัญหานี้อย่างมีประสิทธิผล

แหล่งที่เป็นเหตุเกิดมลพิษทางอากาศ
          แหล่งต่าง ๆ ที่เป็นเหตุทำให้เกิดมลพิษทางอากาศ โดยปล่อยสารต่าง ๆ ปะปนมาในอากาศ มลสารที่เป็นต้นเหตุทำให้เกิดมลพิษทางอากาศนี้มาจากแหล่งต่าง ๆ ซึ่งมีวิธีแบ่งแยกออกได้หลายวิธี เช่น การแบ่งตามลักษณะของการเคลื่อนไหลของแหล่งกำเนิด อาจแบ่งได้เป็น 2 ประเภท คือ แหล่งที่ไม่เคลื่อนที่ (stationary source) ได้แก่ การประกอบกิจการอุตสาหกรรมในโรงงาน การเผาไหม้เชื้อเพลิงในบ้านพักอาศัย ฯลฯ และ แหล่งที่เคลื่อนที่ (mobile source) ได้แก่ การเผาไหม้เชื้อเพลิงในรถยนต ์เรือยนต์ หรือเครื่องบิน หรือการแบ่งตามตัวการที่ก่อให้เกิดสารมลพิษทางอากาศแบ่งออกได้เป็น 2 แหล่ง คือ แหล่งที่มนุษย์สร้าง (man-made source) และ แหล่งที่เกิดโดยธรรมชาติ (natural source) ในที่นี้จะกล่าวถึง การแบ่งแหล่งกำเนิดมลพิษทางอากาศตามกลุ่มประเภทของแหล่งกำเนิด ดังนี้
          

1. แหล่งที่เกิดจากการกระทำของมนุษย์ แหล่งกำเนิดมลพิษทางอากาศชนิดนี้ ได้แก่ กิจกรรมนานาประการของมนุษย์ ได้แก่
                    1) ระบบการคมนาคมขนส่ง รถยนต์นับว่าเป็นต้นเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดมลพิษทางอากาศ โดยเฉพาะในเมืองใหญ่ที่รถยนต์วิ่งเป็นจำนวนมาก และมีการจราจรติดขัด เช่น โตเกียว นิวยอร์ค ลอสแองเจลิส รวมทั้งกรุงเทพมหานคร เป็นต้น จุดที่รถยนต์จะปล่อยสารมลพิษออกสู่บรรยากาศมีอยู่ 3 จุด คือ จากระบบระเหย จากระบบกันอ่าง และจากระบบไอเสีย
          สารมลพิษที่จะระบายท่อไอเสียเป็นส่วนที่มีอันตรายและมีปริมาณมากที่สุด ซึ่งมาจากการเผาไหม้ที่เกิดขึ้นภายในเครื่องยนต์ ได้แก่ สารประกอบไฮโดรคาร์บอน เช่น ออกซิแดนท์ สารอะโรมาติก- ไฮโดรคาร์บอน เขม่า ก๊าซไนตริกออกไซด์ และก๊าซไนโตรเจนไดออกไซด์ รวมทั้งก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์
          มลพิษที่ออกมาจากระบบท่อไอเสียนั้นจะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับอันตราส่วนของอากาศ/น้ำมัน (air fuel ratio) ที่ทำให้เกิดเผาไหม้ได้ค่อนข้างจะสมบูรณ์มากที่สุด โดยจุดที่มีการเผาไหม้สมบูรณ์จะมีก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ และสารประกอบไฮโดรคาร์บอนออกมาน้อยที่สุด แต่จะมีก๊าซไนโตรเจนออกไซด์เกิดขึ้นมากที่สุด ทั้งนี้เพราะที่สภาวะดังกล่าวจะเกิดการเติมออกซิเจนได้ดีที่สุด ในทางตรงกันข้าม ถ้าอัตราส่วนของอากาศ/น้ำมันลดต่ำลง ในช่วงนี้ผลที่เกิดจาการเผาไหม้ จะมีสารประกอบ ไฮโดรคาร์บอน และก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์เพิ่มมากขึ้น และก๊าซไนโตรเจนออกไซด์ ซึ่งกล่าวได้ว่าการเผาไหม้เกิดขึ้นอย่างไม่สมบูรณ์
          ชนิดของเครื่องยนต์มีความสัมพันธ์กับปริมาณของมลพิษที่ปล่อยออกมาจากรถยนต์ด้วย โดยเครื่องยนต์ดีเซลจะปล่อยก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ออกมาน้อยกว่าเครื่องยนต์เบนซิน แต่ในขณะเดียวกันกลับปล่อยก๊าซไนโตรเจนออกไซด์และอนุภาคต่าง ๆ ออกมาสูงกว่า ความแตกต่างกันของมลพิษทางอากาศชนิดต่างๆ

          การเปรียบเทียบปริมาณของสารประกอบไฮโดรคาร์บอน ก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ ก๊าซไนโตรเจนออกไซด์ และอนุภาคต่าง ๆ ที่ปล่อยออกมาจากเครื่องยนต์เบนซิน และเครื่องยนต์ดีเซล
          เบนซิน 4 จังหวะ
                    HC (ppm) 900
                    CO (% โดยปริมาตร)3.5
                    Nox (ppm) 1,500
                    อนุภาคต่าง ๆ (ปอนด์/แกลลอน)ของเชื้อเพลิง 12

          เบนซิน 2 จังหวะ
                    HC (ppm) 12,000
                    CO (% โดยปริมาตร) 3.5
                    Nox (ppm) 150
                    อนุภาคต่าง ๆ (ปอนด์/แกลลอน)ของเชื้อเพลิง 12
          ดีเซล
                    HC (ppm) 150-500
                    CO (% โดยปริมาตร) 0.2
                    Nox (ppm) 2,000-3,000
                    อนุภาคต่าง ๆ;(ปอนด์/แกลลอน)ของเชื้อเพลิง 110
           นอกจากนั้นการทำงานของเครื่องยนต์ในระหว่างการใช้งานแบบต่าง ๆ ก็มีผลต่อปริมาณของมลพิษทางอากาศอีกด้วย
                    2) การเผาไหม้ของเชื้อเพลิงในบ้าน การเผาไหม้เป็นกระบวนการที่มีความจำเป็นอย่างยิ่งในการดำรงชีพของมนุษย์ ในการประกอบกิจกรรมประจำวันภายในบ้าน มีการเผาไหม้เชื้อเพลิงเพื่อนำมาพลังงานความร้อนไปใช้ในประโยชน์ต่าง ๆ เช่น การหุงต้มอาหาร เครื่องทำความร้อนในบ้าน ฯลฯ ซึ่งการเผาไหม้ของเชื้อเพลิงดังกล่าวอาจก่อให้เกิดก๊าซที่ไม่พึงประสงค์หลายชนิด เช่น ก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ ก๊าซไนโตรเจนไดออกไซด์ สารประกอบไฮโครคาร์บอนและพวกอนุภาคมลสารต่างๆ เช่น ควัน เป็นต้น
                    3) กิจการค้า สถาบัน และหน่วยงานของรัฐ การประกอบกิจการค้าหรือการดำเนินงานของสถาบันและหน่วยงานของรัฐ ย่อมมีการใช้เชื้อเพลิงในการเผาไหม้เพื่อก่อให้เกิดพลังงานนำไปใช้ประโยชน์ในรูปต่าง ๆ จะก่อให้เกิดสารมลพิษทางอากาศหลายชนิดปะปนในอากาศเช่นเดียวกับการเผาไหม้ของเชื้อเพลิงในอาคารบ้านเรือน
                    4) โรงงานอุตสาหกรรม เช่น โรงถลุงและหลอมโลหะ อุตสาหกรรมกลั่นน้ำมันอุตสาหกรรมเคมี อุตสาหกรรมผลิตอาหาร ฯลฯ ก่อให้เกิดสิ่งเจือปนในอากาศได้แตกต่างกันทั้งปริมาณและคุณภาพ โดยทั่วไปโรงงานอุตสาหกรรม นับว่าเป็นแหล่งกำเนิดของมลพิษทางอากาศที่สำคัญ และเป็นแหล่งที่ถูกกล่าวโทษจากประชาชนเป็นอย่างมาก เนื่องจากสามารถมองเห็นควันที่ปล่อยออกมาจากปล่องควันได้อย่างชัดเจน สารมลพิษทางอากาศที่เกิดจากโรงงานอุตสาหกรรมส่วนมาก ได้แก่ ฝุ่นละออง เขม่า ควัน ก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ก๊าซไนโตรเจนออกไซด์ และก๊าซพิษอื่นๆ อีกหลายชนิด
                    5) โรงไฟฟ้า การที่โรงงานไฟฟ้าจะสามารถผลิตกระแสไฟฟ้าส่งออกมาใช้ได้นั้น จำเป็นต้องมีการเผาไหม้เชื้อเพลิง เช่น น้ำมันเตา ถ่านหินชนิดต่าง ๆ และเชื้อเพลิงชนิดอื่น ๆ เพื่อให้เกิดพลังงานความร้อนเพื่อนำไปใช้ในการผลิตกระแสไฟฟ้าต่อไป การเผาไหม้ของเชื้อเพลิงดังกล่าวทำให้เกิดสารมลพิษทางอากาศที่สำคัญ เช่น ก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ก๊าซไนโตรเจนออกไซด์ และอนุภาคของมลสารต่าง ๆ
                    6) จากการเผาขยะและสิ่งปฏิกูล ในเขตเทศบาลเมืองใหญ่ หรือชุมชนที่มีประชากรอยู่อย่างหนาแน่น ซึ่งบางแห่งอาจจะมีการกำจัดขยะมูลฝอยโดยการเผา นอกจากนี้แล้วในกิจการค้าต่าง ๆ การอุตสาหกรรม รวมถึงกิจการของรัฐ ก็มีการเผาขยะเป็นประจำในกิจการของตนด้วย เตาเผาขยะไม่ว่าจะเป็นแบบใดก็ตาม จะก่อให้เกิดสารมลพิษทางอากาศ อันเนื่องมาจากการเผาขยะนั้น ได้แก่ สารประกอบไฮโครคาร์บอน ออกไซด์ของไนโตรเจน ออกไซด์ของกำมะถันคาร์บอนมอนอกไซด์ และคาร์บอนไดออกไซด์ เป็นต้น
          2. แหล่งที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ ปรากฏการณ์ทางธรรมชาติหลายอย่างที่เกิดขึ้น มีส่วนทำให้เกิดมลพิษทางอากาศได้แก่
                    1) ภูเขาไฟระเบิด เมื่อเกิดการระเบิดของภูเขาไฟจะมีเถ้าถ่านและควันถูกปล่อยออกสู่บรรยากาศเป็นจำนวนมาก ซึ่งอนุภาคสารเหล่านี้อาจล่องลอยขึ้นไปได้สูงมากเป็นหมื่นฟุตและคงอยู่ในอากาศได้นานนับปีกว่าที่จะตกกลับคืนลงสู่พื้นโลก
                    2) ไฟป่า ควันที่เกิดจากไฟป่าเป็นตัวการที่เพิ่มปริมาณมลพิษให้กับอากาศได้มากอย่างหนึ่ง แต่ก็จำกัดขอบเขตอยู่ในบริเวณใกล้เคียงกับพื้นที่ที่เกิดไฟไหม้ป่าเท่านั้น ดังนั้น ควันจากไฟไหม้ป่า จึงได้รับการพิจารณาว่าไม่ใช่แหล่งกำเนิดที่สำคัญของมลพิษทางอากาศ
          ปัจจุบันมีหลายหน่วยงานให้ความสำคัญกับเรื่องนี้กันเป็นอย่างมาก อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ได้ชี้ว่าปัจจุบันสภาพภูมิอากาศของโลกมีการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิเฉลี่ยสูงขึ้น หรือที่เรียกว่า “ภาวะโลกร้อน” โดยอุณหภูมิของโลกที่สูงขึ้นเพียง 0.6-1 องศาเซลเซียส จะส่งผลให้ภัยธรรมชาติทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้นมากถึง 5 เท่า ซึ่งสาเหตุที่ทำให้โลกร้อนนั้นมาจากการกระทำของมนุษย์ ทั้งการตัดไม้ทำลายป่า การเผาไหม้ของน้ำมันเชื้อเพลิง ควันพิษจากโรงงานอุตสาหกรรม เครื่องใช้ไฟฟ้า รวมถึงการใช้สารคลอโรฟลูออโรคาร์บอน (CFC) จากการฉีดสเปรย์ เครื่องใช้ไฟฟ้า เช่น เครื่องปรับอากาศ เครื่องทำความเย็นในตู้เย็น ทำให้บรรยากาศของโลกเปลี่ยนแปลง และเกิดสภาวะเรือนกระจก ความร้อนไม่สามารถสะท้อนออกนอกโลกได้ ทำให้โลกร้อนขึ้น และวัฏจักรของน้ำเปลี่ยนแปลงไป ส่งผลให้เกิดภัยธรรมชาติบ่อยครั้ง และทวีความรุนแรงมากขึ้น ทั้งยังทำให้ฤดูกาลของโลกเปลี่ยนแปลงไป
          ในส่วนของประเทศไทยได้รับอิทธิพลจากลานีญา ซึ่งเป็นผลต่อเนื่องมาจากภาวะโลกร้อน ทำให้ฤดูฝนของประเทศไทยมาเร็วกว่าปกติ เกิดฝนฟ้าคะนองและมีลมกระโชกแรง ปริมาณน้ำฝนในแต่ละวันมีเกณฑ์เฉลี่ยเพิ่มสูงกว่าเกณฑ์ปกติ (200 มม./วัน) ในช่วงที่น่าจะเกิดภาวะฝนทิ้งช่วง กลับมีปัจจัยทำให้ฝนตกต่อเนื่องมากขึ้น โดยเฉพาะภาคใต้ กรุงเทพฯ และปริมณฑล มีฝนตกชุกเกือบทุกวัน อาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำล้นตลิ่ง น้ำป่าไหลหลาก และดินโคลนถล่มขึ้นได้ ประชาชนในพื้นที่เสี่ยงจึงต้องหมั่นติดตามพยากรณ์อากาศ สังเกตความเปลี่ยนแปลงทางธรรมชาติ เพื่อจะได้ขนย้ายทรัพย์สินไว้บนที่สูง และเตรียมอพยพออกจากพื้นที่ได้ทันท่วงที

ข้อมูลเพิ่มเติม ลงลึกรายละเอียดของสภาวะโลกร้อน และสาเหตุการเกิดสภาวะเรือนกระจก   

   

ขอขอบคุณข้อมูลที่ได้อ้างอิงมาจาก

 

Copyright © 2008 By Akesirikul   Start  www.theenergy.biz 3 January 08